รู้จักงอบไทยใบลาน หมวกเอกลักษณ์โดดเด่น งานจักสานภูมิปัญญาพื้นบ้านมาตั้งแต่ในอดีต
งอบเป็นเครื่องสวมศีรษะสำหรับกันแดดกันฝน
ภายในเป็นโครงไม้ไผ่สานด้วยตอกกรุด้วยใบลาน รูปร่างคล้ายกระจาดคว่ำ
มีรังงอบสำหรับสวมศีรษะ ใช้เช่นเดียวกับหมวก งอบมีใช้กันมากในชนบทภาคกลาง
ในหมู่ชาวไร่ชาวนาชาวสวนและสามัญชนทั่วไป งอบมีประโยชน์ในการใช้สอยเช่นเดียวกับหมวก
แต่งอบมีลักษณะและคุณสมบัติที่พิเศษกว่าหมวก คืองอบมีขนาดใหญ่กว่า
กันแดดกันฝนได้ดีกว่า มีน้ำหนักเบา รังงอบสานด้วยไม้ไผ่สำหรับสวมศีรษะมีลักษณะโปร่งระบายอากาศได้ดี
เหมาะสำหรับใช้งานกลางแจ้ง ชาวไร่ ชาวนา จึงนิยมใส่งอบทำงานกันมากกว่าการใช้หมวก
หรือใช้ผ้าโพกศีรษะ
เอกลักษณ์ /
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์: ผลิตภัณฑ์ OTOP 5 ดาว ปี พ.ศ. 2549 ผลิตภัณฑ์ OTOP ดีเด่น ระดับเขต ปี พ.ศ. 2551 ผลิตภัณฑ์ OTOP ดีเด่น ระดับจังหวัด ปี พ.ศ. 2551 รางวัลบุษราคัมมณีศรีราชภัฏ ปี พ.ศ. 2555
รางวัลบุษราคัมมณีศรีราชภัฏ ปี พ.ศ. 2555
ความสัมพันธ์กับชุมชน:
1. เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
ประชาชนทำเป็นเกือบทุกครัวเรือนเพราะเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น
2. เป็นของที่ระลึกของท้องถิ่นและได้รับการยอมรับโดยมีการมอบเป็นของขวัญของฝากแก่ผู้มาเยือน
3. เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านความเห็นชอบจากเวทีประชาคมให้เป็น
“หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์”
ส่วนประกอบของงอบ:
1. โครงงอบ
2. กระหม่อมงอบ
3. ใบลาน
4. รังงอบ
5. ขอบงอบหรือเส้นประกับของงอบ
ขั้นตอนการผลิต:
1. การเตรียมใบลาน
โดยเลื่อยก้านใบลานออกแล้วนำใบลานมารีดด้วยเตารีดถ่านเพื่อให้ใบลานเรียบและเงา
จากนั้นเจียนใบลานโดยการกรีดเป็นสองเส้น ด้านหนึ่งแคบ ด้านหนึ่งกว้าง
2. การสานโครงงอบ
โดยใช้ไม้ไผ่สีสุขสานเป็นลายเฉลว
3. การติดเย็บใบลาน
โดยนำใบลานที่ได้เจียนออกมาเป็นแผ่นเล็ก ๆ ติดกับโครงงอบ
ให้ส่วนกว้างของใบลานอยู่ที่ปลายงอบ การเย็บจะเย็บแบบเลียดเว้นเลียด
โดยจะเริ่มจากเลียดบนสุดของงอบ
4. การผูกขอบและถักขอบให้งอบเกิดความคงทน
โดยการผูกขอบจะใช้ไม้ไผ่มากำกับไว้สองข้างเพื่อไม่ให้ใบลายหลุดจากโครงงอบและใช้เชือกเอ็นในการผูกขอบเพื่อให้เกิดความคงทน
5. การติดจอมหรือกระหม่อม
โดยติดที่ส่วนบนของงอบเย็บให้แน่น
ซึ่งจอมหรือกระหม่อมเป็นตัวป้องกันไม่ให้น้ำไหลลงในงอบในกรณีฝนตก (สามารถกันฝนได้)
6. การติดรังงอบ
โดยเย็บให้แน่น ไม่ให้หลุดจากงอบ เพื่อให้พร้อมที่จะใช้งาน
รังงอบถือเป็นอัตลักษณ์หรือจุดเด่นของงอบ ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้งอบกับศีรษะติดกัน
โดยรังงอบสามารถขยายได้ตามขนาดของศีรษะ และมีช่องระบายอากาศได้ดี
การติดรังงอบอาจใช้วิธีการใช้ไม้ขัด หรือใช้เส้นลวดก็ได้
โดยปัจจุบันจะนิยมใช้ลวดมายึดติดรังงอบกับตัวงอบเข้าด้วยกัน
7. การเคลือบน้ำมัน
โดยสามารถเคลือบน้ำมันวานิชปกติ หรือทาสีเหลืองทอง
ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า
เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต
(การเลือกไม้ไผ่มาจักสานตอก):
1. ควรเลือกไม้ไผ่ที่แก่จัด
เพราะไม้ไผ่ที่แก่จัดนั้นมอดมักจะไม่กิน เหตุที่มอดชอบกินไม้ไผ่ที่ไม่แก่จัด
เพราะไม้ไผ่บางชนิดมีธาตุน้ำตาลมากนั่นเอง
ถ้าหากจะนำมาจักตอกต้องรอให้ไม้แก่จัดเสียก่อน
เพราะไม้ไผ่ที่แก่จัดธาตุน้ำตาลแปรสภาพจะแปรสภาพเป็นเนื้อไม้ไผ่ และบำรุงตัวเอง
เมื่อไม่มีธาตุน้ำตาลมอดก็ไม่กิน
แต่อย่างไรก็ดีถ้าไม้ไผ่แก่จัดมากก็เหลาตอกยากเพราะแข็งเกินไป
2. เลือกไม้ไผ่ที่มีอายุประมาณ
1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง
3. เลือกไม้ไผ่ที่ข้อปล้องของมันว่าแก่อ่อนแค่ไหน (ถ้าจำอายุไม่ได้) คือ ถ้าไม้ไผ่แก่จัดดีแล้ว คราบที่ข้อปล้องจะค่อย ๆ เรียบเกือบเท่าลำต้นจึงเหมาะกับการจักสานส่วนไม้ไผ่อ่อนที่ไม่เหมาะกับการจักสานข้อปล้องจะสูงกว่าลำต้นมาก การเลือกใบลาน เพื่อนำมากรุงอบให้เลือกใบลานที่เรียบ สีเสมอกัน ไม่มีตำหนิ ใบใหญ่ สีขาวนวล ควรไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป เพราะทำให้การติดเย็บไม่สวยงาม